วันนี้ ดูโฮมไกด์ จะมาบอกข้อควรรู้ก่อนเลือกลวดเชื่อมเพื่อจะให้ทุกท่านเลือกซื้อ และใช้งานได้สะดวกขึ้นใช้งานได้ตรงกับคุณสมบัติของลวดเชื่อม
ลวดเชื่อมมีกี่ประเภท
ลวดเชื่อมธูป หรือลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลั๊กซ์ (Covered Welding Electrode)
เป็นลวดเชื่อมที่นิยมใช้งานกันมากจะมีลักษณะคล้ายธูปด้านในเป็นลวดโลหะ เช่น ลวดเชื่อมเหล็ก และลวดเชื่อมสแตนเลส สามารถเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับประเภทของชิ้นงานที่ต้องการเชื่อมมีราคาที่ไม่แพงมีหลายขนาดให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 2.0, 2.6, 3.2, 4.0 และ 5.0
ลวดเชื่อมไส้ฟลักซ์ (Flux Cored Wire)
เป็นลวดเชื่อมโลหะแบบเป็นม้วนแกนด้านในกลวง บรรจุด้วยสารพอกอยู่ภายในลวด ต่างจากลวดเชื่อมธูปไฟฟ้าที่สารพอกจะอยู่ภายนอกลวดเชื่อมลวดเชื่อมชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูงแต่มีประสิทธิภาพสูงเชื่อมได้รวดเร็ว และสวยงาม
ลวดเชื่อมมิก (MIG) หรือลวดเชื่อม CO2
เป็นลวดเชื่อมแบบลวดโลหะเปลือกไม่มีสารพอกหุ้มภายนอก แบบเปลือย มีลักษณะเป็นม้วน ข้อดีคือเชื่อมได้เร็ว ต้องใช้แก๊สซีโอทู Co2 (แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์) และมีต้นทุนค่าลวดเชื่อมต่ำ ใช้ในอุตสาหกรรมงานประกอบเหล็กทั่วไป งานอุตสาหกรรมรถยนต์ และงานโครงสร้างทั่วไป
ลวดเชื่อมทิก หรือลวดเชื่อมอาร์กอน (Tig Welding Rod)
มีลักษณะคล้ายลวดเชื่อมมิก คือเป็นลวดเชื่อมเปลือยเช่นเดียวกันแต่จะมาแบบเป็นเส้น ๆ แต่ละเส้นยาวประมาณ 1 เมตร ไม่ได้มาเป็นม้วนเหมือนลวดเชื่อมมิกนิยมใช้กับงานเชื่อมที่มีความละเอียดมีทั้งที่เป็น เหล็ก อลูมิเนียม สแตนเลส (308L, 309L, 310L, 316L) ทองเหลือง และโลหะอื่น ๆ มีขนาดตั้งแต่ 1.6, 2.0, 2.4 และ 3.2 มม.
ลวดเชื่อมเซาะร่อง หรือลวดเชื่อมเกาจ์ (Gouging Electrode)
เป็นลวดเชื่อมแบบพิเศษที่มีไว้ใช้ในการกำจัดเนื้อโลหะที่เชื่อมไม่ได้คุณภาพให้ออกไปจากชิ้นงานมีลักษณะกลม และสามารถใช้ทำความสะอาดแนวเชื่อมสำหรับเตรียมชิ้นงานก่อนเชื่อมโดยใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้าเหมาะสำหรับใช้ในการเซาะร่อง เจาะรู หรือใช้ในงานตัด
ลวดเชื่อมพิเศษ
เป็นลวดเชื่อมที่แบ่งกลุ่มออกมาเพื่อใช้งานเฉพาะ เช่น ลวดเชื่อมทนแรงดึงสูง, ลวดเชื่อมพอกผิวแข็ง,ลวดเชื่อมอินโคเนล,ลวดเชื่อมไฟฟ้าอลูมิเนียม,ลวดเชื่อมนิกเกิลอัลลอยด์,ลวดเชื่อมไฟฟ้าทองแดง และลวดเชื่อมประสาน
หลักการเลือกลวดเชื่อมไฟฟ้า
- ความแข็งแรงของชิ้นงาน
- ความหนา และรูปร่างของชิ้นงานควรเลือกใช้ลวดเชื่อมที่มีความเหนียวสูงกับงานที่มีความหนา และซับซ้อนเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกร้าว
- ส่วนผสมของโลหะชิ้นงานจะต้องเลือกลวดเชื่อมที่มีส่วนผสมเหมือนกันกับโลหะชิ้นงาน
- ชนิดของกระแสไฟที่ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับกระแสไฟเชื่อม เพราะลวดเชื่อมบางชนิดจะเชื่อมได้ผลดีกับไฟกระแสตรงเท่านั้น หรือบางชนิดจะเชื่อมได้ผลดีกับไฟกระแสสลับเท่านั้น
อันตรายจากควัน และแสงของลวดเชื่อม
อันตรายของแสงจากการเชื่อม
แสงจากการเชื่อมเป็นอันตรายต่อดวงตา และอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้รังสีในห้องเชื่อมที่เป็นอันตรายจะอยู่ในช่วงความถี่ตามองไม่เห็น คือช่องรังสีใต้แดง (infrared) และรังสีเหนือม่วง (ultraviolet) รังสีทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดอันตรายต่อสายตา และผิวหนังได้อย่างรุนแรง คือ ดวงตาระคายเคืองถึงกับอักเสบ และน้ำตาไหลผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสีจะเป็นเหตุให้ผิวไหม้ และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมงขึ้นไป ยาวนานตามระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น ๆ
ไฟฟ้าดูด
ระบบไฟฟ้าในการเชื่อมชนิดเชื่อมไฟฟ้าจะเริ่มจากแหล่งจ่ายไฟ และจบลงที่สายดินกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านสู่ชิ้นงานกระแสที่มีประจุตรงกันข้ามจะไหลในทิศทางกลับกันกระแสไฟฟ้าจะต้องไหลลงสู่ดินเพื่อให้วงจรสมบูรณ์ และในการไหลลงสู่ดินนี้กระแสไฟฟ้าจะเลือกทางเดินที่สะดวกที่สุดเสมอกระแสไฟฟ้าที่ใช้จะมีความต่างศักย์ 80 โวลต์ การลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ดังกล่าวอาจไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
อันตรายจากควันของการเชื่อม
ควัน (Fume) เป็นอนุภาคของแข็งที่เกิดขึ้นจากการควบแน่นของสารที่อยู่ในสถานะที่เป็นก๊าซโดยทั่วไปสารนั้น ๆ จะอยู่ในสถานะของแข็งที่อุณหภูมิห้องเมื่อได้รับความร้อนจะระเหย และจะควบแน่นทันที
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับข้อควรรู้ที่ ดูโฮมไกด์ นำมาเสนอหวังว่า จะเป็นตัวช่วยสำหรับการเลือกซื้อได้ และช่วยให้เราสามารถใช้งานตรงคุณสมบัติได้